+ เพิ่ม | - ลด ขนาดตัวอักษร   
 
  การปลูก
มะคาเดเมีย, macadamia
        หัวข้อนี้เขียนขึ้นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ตรงที่ได้จากการปลูกมะคาเดเมียนัทของสวนภูเรือวโนทยานให้ผู้สนใจ เผื่อจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับตัวผู้ปลูกเองได้ (แต่อย่าลืมว่าตำราการปลูกที่ได้ผลในที่หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ดีในอีกที่หนึ่งก็ได้เนื่องจากความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของที่แต่ละแห่ง) 


  การเตรียมพื้นที่
มะคาเดเมีย, macadamia
        ก่อนปลูก ควรเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ก่อน  มะคาเดเมียนัทไม่ชอบดินเหนียวแต่ชอบดินร่วนปนทราย อุดมด้วยอินทรีย์วัตถุ  มีหน้าดินลึก 1-2 เมตรและมีความเป็นกรดด่าง 5-6 
        มะคาเดเมียนัทเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดอย่างมาก
         พื้นที่ที่ปลูกจึงควรเป็นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือแปลงพืชไร่เก่าที่ได้แดดเต็มที่และมีการระบายน้ำดี  ไม่ควรมีไม้ยืนต้นใหญ่อยู่ในบริเวณที่ปลูก  พื้นที่ลาดชันมักมีการระบายน้ำดีก็จริง แต่ต้องเช็คว่าไม่มีลานหินใต้ดินและอาจมีปัญหาเรื่องดินถล่ม  หากเลือกได้ การปลูกในพื้นที่ราบที่มีเนินสูงๆ ต่ำๆ จะดีกว่าปลูกในที่ลาดชันมาก 
        ถ้าปลูกเป็นการค้า ต้องคำนึงถึงการจัดการว่าเครื่องจักรใหญ่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ปลูกได้หรือเปล่า  นอกจากนั้น การปลูกแถวยาวจะง่ายสำหรับการจัดการมากกว่าเพราะไม่ต้องกลับรถไถบ่อยเหมือนถ้าปลูกแถวสั้น  และแถวปลูกควรวางแนวเหนือใต้ เพื่อให้ทุกต้นรับแสงได้ทั้งวัน 
        การเตรียมแปลงต้องเก็บตอไม้ออกก่อน ไถผาน 4 และผาน 7  หากมีช่วงแล้งนาน จะต้องเตรียมการสำหรับการให้และระบายน้ำด้วยโดยเฉพาะในแปลงที่ปลูกใหม่ เช่น อาจช่วยพูนโคนต้นในแปลงปลูกใหม่เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี


  การเลือกพันธุ์
มะคาเดเมีย, macadamia

มะคาเดเมียนัทมี 2 สายพันธุ์หลัก คือ 
1.
Macadamia tetraphylla เหมาะสำหรับการปลูกในเขตอบอุ่นเพราะสามารถทนอุณหภูมิต่ำได้ดี ทรงพุ่มชะลูด ดอกสีชมพู ผิวกะลาขรุขระ มักใช้ปลูกเป็นต้นตอ
2.
Macadamia integrifolia เหมาะสำหรับการปลูกในเขตร้อน ทรงพุ่มป้อม ดอกสีขาว ผิวกะลาเรียบ นิยมใช้เป็นพันธุ์การค้าพันธุ์ดีที่กรมวิชาการเกษตรรับรองเป็น Macadamia integrifolia ได้แก่ พันธุ์ 344  พันธุ์เชียงใหม่ 400 (660) พันธุ์เชียงใหม่ 700 (741) พันธุ์เชียงใหม่ 1,000 (508) และพันธุ์ O.C . (Own Choice) 
พันธุ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้นำมาปลูกไว้ที่สวนภูเรือฯ ตั้งแต่ปี 2534  รุ่นแรกที่ปลูกเป็นกิ่งทาบและมาขยายพันธุ์โดยการเปลี่ยนยอด (Top working)  ส่วนใหญ่จะปลูกขยายพันธุ์โดยวิธีติดตาเสียบยอดเพื่อไม่ให้กลายพันธุ์

        จากประสบการณ์ของสวนภูเรือฯ เราอาจแบ่งพันธุ์มะคาเดเมียนัทเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามระยะเวลาการให้ผลผลิต ซึ่งมีผลโดยตรงกับรายได้ ดังนี้ 
        1. พันธุ์เบา สามารถออกดอกและติดผลได้ดีหลังจากที่ปลูกเพียง 1-5 ปี เช่น  พันธุ์ O.C. พันธุ์ 660 พันธุ์ Hinde (H2)  
        สวนภูเรือฯ ขอแนะนำพันธุ์ CPK1 ซึ่งคาดว่ามาจากการกลายพันธุ์ของพันธุ์ 344  พันธุ์นี้สามารถออกดอกและติดผลได้ในปีที่ 2-3  พอถึงปีที่ 5-10 ก็สามารถให้ผลผลิตเป็นการค้าได้ โดยต้นอายุ 10 ปีจะให้ผลผลิต 10 กก./ต้น  อายุ 15 ปี 15 กก./ต้น  หลังอายุ 20 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิตเนื้อในกะลา (Nut in shell) ได้ถึง 20 กก./ต้น ซึ่งขณะนี้ ทางสวนฯ ได้ขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจในราคาต้นละ 100 บาท

2. พันธุ์หนัก จะให้ผลผลิตหลังจากปลูก 10 ปีขึ้นไป เช่น พันธุ์ 344 พันธุ์ 741 พันธุ์ 508  มะคาเดเมียนัทกลุ่มนี้ต้องปลูกในพื้นที่สูงซึ่งมีอากาศเย็น อุณหภูมิตลอดทั้งปีไม่ควรเกิน 35ºC โดยเฉพาะพันธุ์ 344 
        เราขอแนะนำคนที่เริ่มปลูกว่าควรปลูกพันธุ์เบาก่อนเพื่อจะได้ไม่ต้องรอนานเกินไปและควรปลูกปนกันตั้งแต่ 2 พันธุ์ขึ้นไป โดยปลูกสลับพันธุ์แถวเว้นแถว หรือ 1 แถว เว้น 2 แถวเพราะมะคาเดเมียนัทเป็นพืชผสมข้ามต้น ผสมข้ามพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ (Cross pollination)  
        ในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 400-600 เมตร แนะนำให้ปลูกพันธุ์ CPK1 สลับกับ O.C. โดยปลูกพันธุ์ CPK1 2 แถวสลับกับพันธุ์ O.C. 1 แถวเพราะทั้ง 2 พันธุ์เป็นพันธุ์เบาและดก ให้ผลทุกปี  แม้พันธุ์ O.C. จะมีปัญหาว่าลูกแก่ไม่ร่วงเองต้องตีกิ่ง แต่เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรรายย่อย


  ผลผลิต 
มะคาเดเมีย, macadamia
มะคาเดเมียนัทพันธุ์เบาจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 2 แต่ยังไม่มากพอจะขาย จะเริ่มมากพอที่จะเป็นการค้าได้ก็ในปีที่ 7-10 เป็นต้นไป   
        ตามปกติ การออกดอกจะมี 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์และเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม และจะสามารถเก็บผลผลิตได้ 6-11 เดือนหลังดอกบาน  อย่างไรก็ตาม จะมีเพียง 4% ของดอกที่บานเท่านั้นที่จะติดผล  ตำราบอกว่าจะสามารถเก็บผลผลิตมะคาเดเมียได้จนต้นอายุ 100-125 ปีเลยทีเดียว  ส่วนผลผลิตจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลและอายุของต้นผลผลิตเฉลี่ยตามอายุของต้นคือ 
อายุต้น
ผลผลิต (กก.ของเนื้อในกะลาต่อต้นต่อปี) 
5 ปี
2 กก.
6 ปี
5 กก. 
7 ปี
8 กก. 
8 ปี
10 กก.
11 ปี
15 กก. 
20 ปี
20-35 กก.
        จะเห็นได้ว่ามะคาเดเมียนัทเป็นพืชระยะยาว  กว่าจะมีรายได้เป็นการค้าก็ 7 ปีขี้นไป  ในระยะเริ่มต้นจึงควรปลูกพืชแซม (intercrop) ด้วย เช่น ปลูกกาแฟแซมแบบ Doi Tung Model ของกรมวิชาการเกษตร



  ระยะปลูกและการวางแนวปลูก
มะคาเดเมีย, macadamia
มะคาเดเมียนัทอาจมีระยะปลูกได้หลายแบบดังนี้ 
        5 x 10 ม.    1 ไร่ปลูกได้ 32 ต้น
        8 x 8 ม.     1 ไร่ปลูกได้ 25 ต้น
        8 x 12 ม.    1 ไร่ปลูกได้ 16 ต้น
         ที่สวนภูเรือฯ ส่วนใหญ่ปลูกระยะ 8 x 8 เมตร  ในช่วง 3 ปีแรก สามารถปลูกพืชไร่แซมระหว่างแถวได้ 
         นอกจากจะช่วยให้มีรายได้เข้ามาเสริมบ้างแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนกำจัดวัชพืชโดยปลูกพืชไร่คลุมดินแทน  พืชไร่ที่เราปลูกได้แก่ ขิง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วดำและถั่วลันเตา การปลูกระยะชิด มีข้อดีคือได้ผลตอบแทนเร็วกว่าแต่ต้องลงทุนเสียค่าต้นพันธุ์สูงกว่า และตั้งแต่ปีที่ 12-15 เป็นต้นไป จะมีปัญหาได้แสงน้อย ผลผลิตตก จะต้องตัดสางแถวเว้นแถวหรืออาจใช้วิธีตัดเล็มกิ่งข้างออก
        การย้ายกล้าลงปลูก ควรทำต้นฤดูฝนเพื่อให้พืชตั้งตัวได้ก่อนถึงหน้าแล้ง


  ไม้บังลมและการตัดแต่ง
มะคาเดเมีย, macadamia
ภาพแสดงการแตกแขนงแนวนอน
มะคาเดเมีย, macadamia
ภาพกระถินเทพาที่ปลูกเป็นแนวบังลมให้ต้นมะคาเดเมียนัท
         การปลูกไม้บังลมให้มะคาเดเมียนัทเป็นเรื่องสำคัญเพราะกิ่งและต้นของมันจะเปราะหักง่าย
        นอกจากนั้น กิ่งแขนงของมะคาเดเมียนัทยังมักเติบโตออกทางข้างๆ ในแนวนอน ทำให้ฉีกง่ายเมื่อพายุมา ในการเตรียมแปลงปลูกมะคาเดเมียนัท จึงควรเริ่มปลูกไม้บังลมไปด้วย ไม้บังลมที่สวนภูเรือฯ พบว่าปลูกง่ายโตเร็ว ได้แก่ ขนุน ไผ่ ยูคาลิปตัส ทองหลางออสเตรเลีย (Willy-Willy) สนฉัตร Bana grass กระถินเทพา หมากเม่าและเปล้าใหญ่ นอกจากการปลูกไม้บังลม
         วิธีการป้องกันลมพายุอื่นๆ ที่เราทำคือการตัดยอดไม่ให้สูงเกิน 6-7 เมตร ประกอบกับการตัดกิ่งข้างออกตั้งแต่ต้นเล็กเพื่อแต่งให้ทรงต้นตรง การยึดกิ่งแขนงเข้ากับลำต้นเพื่อกันการฉีกหัก การใช้ไม้ไผ่ตอกตะปูค้ำยันลำต้น และการใช้ลวดชุบสังกะสีขึงโยงตอกยึดกับสมอบก 3 จุดต่อต้น 
         ที่สวนภูเรือฯ เมื่อเริ่มปลูก เราพลาดที่ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับการปลูกไม้บังลม การตัดแต่งและการคัดเลือกกล้าพันธุ์ดี  เราไม่ได้ปลูกไม้บังลมไปพร้อมๆ กับการปลูกมะคาเดเมียนัท และเราก็ได้บทเรียนราคาแพงเมื่อลมพายุพัดมะคาเดเมียอายุ 10 ปีที่กำลังมีลูกเต็มต้นล้มถอนรากชี้ฟ้าไป 1,000 กว่าต้นภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง

มะคาเดเมีย, macadamia
ภาพก่อนการตัดแต่ง
ภาพหลังการตัดแต่ง
ภาพต้นมะคาที่ถูกพายุพัดล้มชนิดรากชี้ฟ้า


  การควบคุมวัชพืชและคลุมโคน
มะคาเดเมีย, macadamia
นำวัวและควายมาเลี้ยง ควายจะกินทั้งหญ้าคาและหญ้าใบแบนแต่วัวจะกินเฉพาะหญ้าคา
         หญ้าเป็นปัญหาสำคัญเพราะนอกจากจะแย่งอาหารแล้ว ในหน้าแล้ง หญ้าคาที่แห้งยังเป็นเชื้อไฟอย่างดี  สำหรับมะคาเดเมียที่ยังเล็กอยู่ในช่วง 3 ปีแรก สามารถใช้การปลูกพืชไร่ช่วยคลุมดินประกอบกับการใช้เครื่องตัดหญ้าสะพายบ่าตัดรอบๆ โคนต้นและใช้รถแทรกเตอร์ลากหางเครื่องตัดหญ้าตัดระหว่างแถว  
         ถ้าจำเป็น ก็ใช้ยาปราบวัชพืชกรัมม็อกโซนปีละ 2 ครั้งทางเลือกที่พบว่าได้ผลดีสำหรับต้นมะคาเดเมียที่โตแล้วคือนำวัวและควายมาเลี้ยง  ควายจะกินทั้งหญ้าคาและหญ้าใบแบนแต่วัวจะกินเฉพาะหญ้าคา ต้องใช้เครื่องตัดหญ้าช่วยตัดพวกหญ้าใบแบน       
         การคลุมโคนต้นช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน ทำให้อุณหภูมิลดลงและช่วยให้มีรากฝอยใกล้ผิวดิน  นอกจากนี้ อาจใช้ Bana grass ที่ปลูกบังลมมาตัดเป็นวัสดุคลุมโคนในแปลงต้นเล็ก แต่อย่าคลุมให้ชิดโคนนักเพื่อกันโคนเน่า

มะคาเดเมีย, macadamia
มะคาเดเมีย, macadamia
 
  การให้น้ำ 
         มะคาเดเมียนัทต้องการน้ำต้นละ 15 ลิตรต่อวันในช่วงไว้ผล  เนื่องจากที่ภูเรือมักมีฝนมากพอในช่วงที่กำลังไว้ผล ทำให้เราได้มะคาเดเมียที่มีเม็ดใหญ่ แต่หากฝนทิ้งช่วง ก็ควรมีฝายเก็บน้ำหลายแห่งเพื่อให้สามารถส่งน้ำไปถึงได้ทุกแปลง  ที่สวนภูเรือฯ จะมีการให้น้ำช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ 
         ส่วนการให้น้ำในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนนั้น จะทำเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้นเพราะมีพายุฤดูร้อนรุนแรงมากในเขตภูเรือ จึงต้องงดน้ำเพื่อให้ดินแข็งช่วยยึดโคนต้นกันล้ม
มะคาเดเมีย, macadamia
มะคาเดเมีย, macadamia
 
  การให้ปุ๋ย
 
 
การให้ปุ๋ย
ต้นอายุ
โดโลไมท
ขี้ไก
1-5 ปี
300 กรัม/ต้น
5 กก./ตัน
5 -10 ปี
1 กก./ต้น
10 กก./ต้น
ใส่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของทุกปี
   
 
  โรคและแมลงศัตรูพืช
           การใช้ยากำจัดศัตรูพืชนั้นควรพิจารณาใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ เช่น เมื่อมีเพลี้ยอ่อนระบาดตอนก่อนดอกบาน โดยใช้ยาพ่นเพลี้ยอ่อน เช่น พอสซ์หรือคาราเต้  (เพลี้ยอ่อนนี้มดเป็นตัวนำมาเลี้ยงไว้กินน้ำหวาน)  เราพบว่าการโรยปุ๋ยโดโลไมท์ไว้โคนต้นมีผลพลอยได้ช่วยลดปริมาณมดและเพลี้ยอ่อนไปด้วยในตัว
 
  หนู
           เป็นปัญหาใหญ่เมื่อมะคาเดเมียให้ผลผลิตแล้ว  หากไม่มีการจัดการ คาดว่าหนูสามารถแย่งกินมะคาเดเมียในแปลงถึงครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว 
วิธีการจัดการที่พบว่าได้ผลคือการทำแปลงให้สะอาด ไม่เป็นที่อยู่อาศัยของหนู อีกทั้งส่งเสริมให้คนงานอีสานใช้หนูเป็นอาหารเนื่องจากหนูที่กินมะคาเดเมียนัทมีความสมบูรณ์มาก สามารถเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีให้คนงานได้ 
 
  การป้องกันไฟ
           ไฟก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน  ความจริง ไฟที่เราเผชิญส่วนมากไม่ได้เกิดจากป่าเพราะรอบๆ สวนภูเรือเป็นไร่ของชาวบ้านไปหมดแล้ว แต่เกิดจากการเผาที่เตรียมแปลงทำไร่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี ประกอบกับเป็นฤดูที่มีลมพายุแรง ทำให้ไฟลุกลามเร็วขึ้นไปใหญ่ 
        เราสามารถช่วยป้องกันไฟได้โดย 
        1. กำจัดหญ้าคาในแปลงปลูกไม่ให้เป็นเชื้อไฟ 
        2. ทำแนวกันไฟตามขอบพื้นที่ในเดือนกุมภาพันธ์โดยใช้แทรกเตอร์ไถให้เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีเชื้อไฟใดๆ  แนวนี้ควรกว้าง 15-30 เมตรหรือเท่าที่มีพื้นที่อำนวย 
        3. จัดรถน้ำและยามเฝ้าระวังดับไฟที่เกิด
 
  การเก็บเกี่ยว
           เราพบว่าการใช้เครื่องจักรเก็บยังไม่คุ้มและไม่เหมาะกับสภาพการเก็บในฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวหลัก (ผลผลิตในฤดูแล้งมีน้อยกว่า)  สวนภูเรือฯ ใช้แรงงานคนเก็บผลแก่ที่หล่นใต้ต้น ก่อนเก็บ ต้องตัดหญ้าก่อนจึงจะเก็บง่าย
มะคาเดเมีย, macadamia
 
  การกะเทาะกะลาและการอบ
 
มะคาเดเมียนัทประกอบด้วย 3 ส่วนคล้ายมะพร้าว คือ เปลือกนอกเขียว กะลาน้ำตาลและเนื้อในสีขาว
มะคาเดเมีย, macadamia
มะคาเดเมีย, macadamia
มะคาเดเมีย, macadamia
มะคาในเปลือกเขียว (nut in husk)
มะคาในกะลา (nut in shell)
เนื้อมะคา (kernel)
การตีเปลือกเขียว ควรตีออกภายใน 24 ชั่วโมงหลังการร่วงหล่น
         ความชื้นของมะคาเดเมียหลังตีเปลือกเขียวจะมีประมาณ 25-30%  ก่อนจะกะเทาะกะลาออก ต้องลดความชื้นให้เหลือ 1.5-2% เพื่อให้เนื้อในล่อนจากผิวด้านในกะลา  วิธีเช็คง่ายๆ คือเขย่าแล้วมีเสียง
         การลดความชื้นของกะลาควรผึ่งในที่ร่มในที่ที่หนูเข้าไม่ได้และมีอากาศถ่ายเทดี อีกทั้งต้องคอยโกยและพลิกกองเพื่อกันไม่ให้กะลาชั้นล่างอับชื้น

   
 
มะคาเดเมีย, macadamia
ภาพเครื่องตีเปลือกเขียว เครื่องกะเทาะ เครื่องแยกกะลาเสียโดยลมและสายพานคัดเกรด


         ที่สวนภูเรือฯ ใช้วิธีผึ่งบนตะแกรงในไซโลที่มีลมเป่าตลอดเวลาจนความชื้นของลมที่เป่าออกจากไซโลเท่ากับความชื้นในอากาศรอบข้าง จึงค่อยใช้ความร้อนจากแก๊สอบโดยค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิทีละน้อยเมื่อความชื้นค่อยๆ ลดลง  เราใช้อุณหภูมิ 35°C เป็นอุณหภูมิเริ่มต้นของการอบด้วยแก๊สและค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิขึ้นทีละ 5°C เมื่อความชื้นลดลงทีละ 10%  อุณหภูมิสูงสุดที่ใช้คือ 60°C  
         หลังกะเทาะกะลา ก็ทำการคัดเกรด ล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน แล้วนำเนื้อไปเข้าเตาอบไฟฟ้าที่ 60°C เป็นเวลา 3-7 วัน  ถ้าชิมดู กรอบใช้ได้ ก็จะปรับอุณหภูมิชั่วโมงสุดท้ายเป็น 75°C เพื่อให้กรอบร่วนก่อนจะบรรจุถุงสุญญากาศและนำไปเก็บไว้รอขายในห้องเย็น
มะคาเดเมีย
มะคาเดเมีย, macadamia
 
 

บริษัท ซี.พี.เค.แพลนเตชั่น จำกัด เลขที่ 6 ซอยศูนย์วิจัย 3 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร    
โทรศัพท์ 02-718-1932 อีเมลล์ 
sales@macadamia-nut.net

บริษัท ซี.พี.เค.แพลนเตชั่น จำกัด เลขที่ 220 หมู่ 10 ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย 42160    
โทรศัพท์ 042-039-815, 089-944-2616     ID Line : 0899442616

มะคาเดเมีย, macadamia